การบังคับให้เครื่องลูกข่ายวิ่งผ่าน DNS ของ MikroTik

บทความนี้ขอพูดถึง Feature หนึ่งของไมโครติก ที่น่าสนใจ หรือ DNS

หลายท่านเคยสงสัยไหมว่า DNS คืออะไร มีไว้ทำอะไร ไม่มีได้ไหม ??? นี่เป็นคำถามที่ผมเอง สงสัยตั้งแต่แรกๆ ที่เข้าสู่วงการอินเตอร์เน็ต (ฮ่าๆๆๆ แหม ใช้คำว่าเข้าสู่วงการเลยนะ) มันจะอะไรนักหนา ทั้ง

  1. ไอพี (IP Address)
  2. ซับเน็ตมาร์ก (Subnet Mask)
  3. เกตเวร์ (Gateway)
  4. ดีเอ็นเอส (DNS)

เอ๊า มาดูภาพนี้กัน ไม่รู้ว่ายังจำกันได้ไหม แต่ผมว่าน่าจะจำกันได้ หากใครก็ตามยังใช้งานอินเตอร์เน็ตอยู่ ณ ปัจจุบัน

2016-07-08_10-16-05

ภาพนี้คือ หน้าต่างของ Windows ที่ใช้สำหรับการกำหนดค่าหมายเลขไอพี ให้กับเครื่อง เพื่อให้เครื่องของเราสามารถสื่อสารกับเครื่องอื่นๆ ในสำนักงานของเราได้  และหนึ่งในนั้นก็คือ DNS ด้วยเช่นกันที่เราต้องกำหนด

ผมขอกล่าวคร่าวๆ ก่อนแล้วกันครับว่า ไอพี คืออะไร ? ซับเน็ตมาร์ก คืออะไร ? เกตเวร์ คืออะไร ? และสุดท้ายคือเนื้อหาในบทความของเราคือ DNS คืออะไร?? เอาแบบคร่าวๆ นะครับ ไม่งั้นยาว เพราะจริงๆ แล้วเนื้อหาพวกนี้ มันถือว่าเป็นหลักสูตรหนึ่งกันเลยทีเดียว ลองไปหาอ่านเรื่อง TCP/IP หรือไม่ก็พวก IP Calculating กันใน google.com นะครับ

เริ่มต้นกันที่ไอพี คืออะไร ?

ผมไม่ลงวิชาการ เอาง่ายๆ ไอพีคือหมายเลขที่เอาไว้กำหนดให้กับเครื่องคอมฯ ของเรา (ทุกๆ อุปกรณ์ที่จะใช้อินเตอร์เน็ต หรือเน็ตเวิร์ค ต้องกำหนดหมายเลขไอพี)  ไอ้เจ้าหมายเลขไอพีนี้นั้น จะต้องไม่ตรงกัน ในหนึ่งเน็ตเวิร์ค (ฮ่าๆๆ เอาล่ะ แม่งศัพท์ เน็ตเวิร์ค มาไงอีกเนี่ย)  เดี๋ยวจะอธิบายต่อถัดจากนี้

อ๋อต้องบอกก่อนว่า คอมพิวเตอร์มันรู้จักกันด้วยหมายเลขไอพี ครับ ถ้านึกภาพให้เข้าใจง่ายๆ เลย นี่เลยครับ มันคือบ้านเลขที่ของเรานั่นเอง แต่ละบ้านจะต้องมีเลขประจำบ้าน หรือเรียกว่าบ้านเลขที่นั่นเอง  และต้องไม่ตรงกัน หากตรงกันเมื่อไหร่ งานจะเข้าเอานะ ตัวอย่างเช่น หากเลขที่บ้านของเราดันไปตรงกับเลขที่บ้าน ของเพื่อนบ้านๆ ที่ติดกัน วันหนึ่ง คุณสั่งซื้อของจาก Lazada ฮ่าๆๆ (อินเทร็นหน่อย) แล้ว Kerry Express เอาของมาส่งให้คุณ (ฮั่นแน่ะ งงไปใหญ่ Kerry Express คืออะไร อยากรู้ก็ลองไปสั่งของใน Lazada.co.th มาลองก็แล้วกัน)

เมื่อของเอามาส่งให้เรา แม่เจ้า ปัญหาเกิดสิ เพราะเวลาสั่งของเราจะระบุใช่ไหม ว่าให้ส่งบ้านเลขที่เท่าไหร่ ฮ่าๆๆ นึกภาพออกแล้วใช่ไหม คราวนี้เราก็ต้องมาเสี่ยงดวงกันละว่า มันจะส่งตรงที่บ้านเรา หรือ จะส่งไปที่บ้านข้างๆ

ด้วยเหตุผลนี่แหละครับ ทำให้เราต้องกำหนดหมายเลขไอพีไม่ให้ตรงกันในหนึ่งเน็ตเวิร์ก

ว่าด้วยเรื่องซัปเน็ตมาร์ก (Subnet Mask) ?

ในช่วงแรก ผมบอกว่าเราจะเป็นต้องกำหนดไอพีให้กับอุปกรณ์ของเรา ไม่ให้ตรงกันในหนึ่งเน็ตเวิร์ก ผมจะอธิบายตรงนี้ให้เข้าใจง่ายๆ แล้วกัน

หลับตาแล้วนึกภาพ ก่อนน่ะ ในตำบล ๆ หนึ่ง ประกอบไปด้วย หลายๆ หมู่บ้าน และในหนึ่งหมู่บ้าน ก็จะมีบ้านหลายๆ หลัง

3518a6c52238cbc99fd1894d939eeb08

และบ้านแต่ละหลังจะมีเลขที่บ้านกำหนด พร้อมกับบอกว่า เลขที่นี่อยู่หมู่บ้านอะไร เช่น บ้านผมเลขที่ 55 หมู่บ้าน บ้านป่าไผ่ ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ เป็นต้น

จากตัวอย่างข้างต้น หมู่บ้านนี่แหละที่เป็นตัวกำหนดขอบเขตของบ้านทั้งหมดในหมู่บ้าน ว่า หนึ่งหมู่บ้าน มีบ้านทั้งหมด 255 หลังคาเรือน นั่นคือความหมายของคำว่า subnet mask ครับ งงไหม ??? ถ้างง เอาอีกนิด

ผมสมมติ นะ สมมติ ว่า มีหมู่บ้านหนึ่งหมู่บ้าน  ในหมู่บ้านนี้ มีทั้งหมด 255 หลังคาเรือน ชื่อว่าหมู่บ้านป่าไผ่ ดังนั้น หากใครก็ตามพูดถึงบ้านในหมู่บ้านนี้ ก็จะรู้ว่า มันคือ บ้านเลขที่ 1 ถึงเลขที่ 255 เป็นต้น หากมีคนบอกว่า อยากติดต่อบ้านเลขที่ 256 ในหมู่บ้านป่าไผ่นี้ แน่นอนว่า คงไม่เจอแน่ๆ เพราะ หมู่บ้านนี้มีถึงแค่เลขที่บ้าน 255 เท่านั้น

สรุปแล้วกัน หมายเลขไอพี เปรียบเสมือนเลขที่บ้าน และ ซัปเน็ตมาร์ก เปรียบเสมือนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นตัวกำหนดขอบเขตของสมาชิกในหมู่บ้านนั้นๆ ทั้งหมด

ดังนั้น คุณจะเห็นว่าซัปเน็ตมาร์ก มันจะมีการกำหนดเป็นตัวเลขเหมือนกัน เช่น /24 (เขาเรียกมาร์ก 24) หรือเปลี่ยนเป็นไอพีคือหมายเลข 255.255.255.0 ในซัปเน็ตมาร์กนี่(หมู่บ้าน) จะมีสมาชิกทั้งหมด 256 หมายเลข หรือ หลังคาเรือน ไปเรียนรู้เรื่องการคำนวนเองแล้วกัน นะ อยากคำนวนก็ลองเข้าไปเว็บนี้ครับ ง่ายดี http://jodies.de/ipcalc

สงสัยไหมว่าแล้วทำไม มันต้องมีการกำหนดขอบเขตของหมู่บ้าน หรือ ซัปเน็ตด้วย ??? สาเหตุที่ต้องมีการกำหนดก็เพื่อต้องการให้การสื่อสารในหมู่บ้านมันรวดเร็ว เช่น หมู่บ้านเล็กๆ มีบ้านเรือนไม่กี่หลัง เวลาคุยกัน ก็คุยเบาๆ ก็ได้ยินกันทุกหลังคาเรือนล่ะ ลองนึกภาพ ในหมู่บ้าน มี 10 หลังคาเรือน เวลาเราเรียกลูกบ้าน (สมมติเราเป็นผู้ใหญ่บ้านน่ะ เราจะเรียกหานายอำนวย น่ะ เดินสองก้าว ก็ถึงบ้านนายอำนวยล่ะ แต่หากหมู่บ้านนี้ขอบเขตมันกว้างขวางเกิน เป็น พันๆ หมื่นๆ หลังคาเรือน การจะเรียกหานายอำนวย นั้น ใช้เวลาพอสมควรน่ะ

นั่นคือทำไมเวลาเรากำหนด ซัปเน็ตมาร์ก เราจึงควรกำหนดให้มันมากจนเกินความจำเป็น เพื่อความรวดเร็วในการสื่อสารนั่นเองครับ จบน่ะ เรื่อง subnet mask ไว้วันหลังมีเวลาจะอธิบายให้มากกว่านี้แล้วกัน อันนี้แค่สั้นๆ ผมอธิบายยาวไม่ค่อยเป็น

มาถึงเกตเวร์ ครับ ว่ามันคืออะไร??

เมื่อกี้เราพูดถึงหมู่บ้าน ไปแล้ว เพียงแค่หนึ่งหมู่บ้าน ที่นี่ เราลองจินตนาการกันต่อ หลับตาก่อนน่ะ แล้วหายใจเข้าออกลึกๆ สักสามครั้ง แล้วลองนึกภาพ หากหมู่บ้านมากกว่า 1 หมู่บ้านล่ะ มีหมู่บ้านป่าไผ่ หมู่บ้านไทรย้อย หมู่บ้านปางเคาะ ในแต่ละหมู่บ้านคุณจะเป็นว่ามันจะมีทางเข้า-ออก ของหมู่บ้านใช่ป่าว ภาพตัวอย่างกันเลย

E7310511-22

ขออภัยหาภาพหมู่บ้านป่าไผ่ไม่เจอใน Google เอาหมู่บ้าน อยู่เย็นเป็นสุข ไปก่อนแล้วกัน ฮ่าๆๆ สังเกตุว่า หากสมาชิกในหมู่บ้านนี้ จะไปหมู่บ้านอื่นๆ จะต้องออกทางหน้าหมู่บ้าน หรือ ประตูหมู่บ้าน นี่เท่านั้น ออกทางอื่นๆไม่ได้ เพราะเป็นเส้นทางบังคับ มีเส้นทางนี้เท่านั้นที่จะออกไปยังหมู่บ้านอื่นๆ เท่านั้น

นั่นคือเกตเวร์ ครับ ทีนี่มาดูในเน็ตเวิร์กของเรากันบ้าง แน่นอนในหนึ่งสำนักงาน หรือบ้านก็ได้เอ๊า เราจะมีเร้าท์เตอร์ อยู่ตัวหนึ่ง และใครก็ตามจะใช้งานอินเตอร์เน็ต เราจำเป็นต้องกำหนดไอพี ซับเน็ต และ เกตเวร์ ให้อยู่ในกลุ่มหรือเน็ตเวิร์ค (หมู่บ้าน) เดียวกันกับเร้าท์เตอร์ตัวนั่นเท่านั้น (โดยปกติมันแจกให้เราอัตโนมัติ) เราถึงจะออกไปยังหมู่บ้านอื่นได้ หากไม่ใส่ ได้ไหม???? คำถาม ผมไม่ใส่เกตเวร์ได้ไหม ??

ผมไม่ใส่เกตุเวร์ได้ไหม ??

คำตอบคือได้ครับ แต่มีเงื่อนไขว่า คุณจะไปคุยกับคนอื่นนอกหมู่บ้านไม่ได้ แต่จะคุยกันกับคนอื่นในหมู่บ้านตัวเองได้เท่านั้นครับ จบในส่วนเกตเวร์ ง่ายๆ สั้นๆ เพราะเริ่มพิมพ์ยาวแล้ว ฮ่าๆๆ

มาถึงเรื่องของบทความที่ผมตั้งหัวข้อแล้วคือ DNS

DNS คืออะไร ??? เอาวิชาการนิดแล้วกัน มันมาจากคำว่า Domain Name System

ข้อความจาก wiki เลขครับ

เป็นระบบที่ใช้เก็บข้อมูลของชื่อโดเมน (โดเมนเนม) ซึ่งใช้ในเครือข่ายขนาดใหญ่อย่างอินเทอร์เน็ต โดยข้อมูลที่เก็บมีหลายอย่าง แต่สิ่งสำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างชื่อโดเมนนั้นๆ กับหมายเลขไอพีที่ใช้งานอยู่ คำว่าดีเอ็นเอสสามารถหมายถึง บริการชื่อโดเมน (Domain Name Service) ก็ได้ ส่วนเครื่องบริการจะเรียกว่า เครื่องบริการชื่อ หรือ เนมเซิร์ฟเวอร์ (name server)

ประโยชน์ที่สำคัญของดีเอ็นเอส คือช่วยแปลงหมายเลขไอพีซึ่งเป็นชุดตัวเลขที่จดจำได้ยาก (เช่น 207.142.131.206) มาเป็นชื่อที่สามารถจดจำได้ง่ายแทน (เช่น wikipedia.org)

แล้วมันคืออะไรล่ะ เอาอธิบายแบบชาวบ้านง่ายๆ เลย ก็คืออย่างนี้ครับ ปกติแล้วน่ะ คอมฯ มันสื่อสารกันด้วยไอพี ครับ มันไม่รู้จักหรอกชื่อน่ะ เช่น ผมชื่อ นายอำนวย ปิ่นทอง มีเบอร์ประจำตัวคือ 0955499819 น่ะ อันนี้คือเลขประจำตัวผม ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์มันก็จะสื่อสารกันประมาณว่า ถ้าต้องการสั่งงานให้นายอำนวย ทำอะไรสักอย่าง ก็จะบอกว่า นี่ นาย 0955499819 ช่วยไปซื้อข้าวกระเพราให้กินหน่อย และไปบอกนาย 025301681 ด้วยว่าให้มารับเอกสารด้วย

เอาเข้าไป ตัวเลขอะไรบ้างว่ะเนี่ย ซึ่งหากเป็นคอมฯ มันจะสื่อสารกันแบบนี้ครับ ทีนี่ ลองเปลี่ยนตัวเลขเป็น ชื่อแทนสิ เราจะจำง่ายเลยใช่ป่าว เช่น ” นี่นาย อำนวย ช่วยไปซื้อข้าวกระเพราให้กินหน่อย และไปบอกนาย อำนาจ ด้วยว่า ให้มารับเอกสาร” อันนี้จำง่ายไหม

ดังนั้น DNS มันทำหน้าที่อย่างนี้ครับ คือ มันจะทำหน้าที่แปลงชื่อที่เราๆ จำกันได้ง่ายๆ ไปเป็นหมายเลขไอพี ให้คอมพิวเตอร์มันเข้าใจ และทางตรงกันข้าม มันจะแปลงจากหมายเลขที่คอมฯ เข้าใจ กลับมาเป็นชื่อ ให้เราเข้าใจ เขาเรียกว่า Name Resolution (ถูกผิดขออภัยน่ะ)

แล้ว DNS มันจะรู้ได้อย่างไรว่า ชื่อนี้ไอพีอะไร

ด้วยเหตุนี้ครับ มันจึงมีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่เครื่องหนึ่ง หรือปลายๆ เครื่อง ทำหน้าที่เก็บข้อมูลตรงนี้ไว้ให้เรา ดังนั้น เมื่อเราต้องการสื่อสารกับคนอื่นด้วยชื่อ (เน้นย้ำด้วยชื่อ หากด้วยไอพีไม่จำเป็นต้องใส่ DNS น่ะ) จำเป็นต้องอ้างอิงหรือไปค้นหาชื่อก่อนที่จะสื่อสารไปยังปลายทาง มันคือ DNS Server ครับ

DNS Server เปรียบเสมือนสมุดหน้าเหลือง ที่รวบรวมชื่อ และเบอร์โทรของคนจำนวนมากๆ ไว้ เมื่อเราต้องการโทรหาใคร ก็เพียงไปดูชื่อ แล้วมันจะบอกว่าเบอร์โทรอะไรให้เรา ตัวอย่างตามภาพนี้เลย

yellow_pages

คราวนี้มาดูเครื่อง DNS Server บ้างก็จะเก็บข้อมูลประมาณเดียวกันนี้ แต่สิ่งที่มันเก็บมันเก็บ หมายเลขไอพี และ ชื่อโดเมน ไว้ให้เรานั่นเอง ดังนั้นเมื่อเราตัองการเข้าเว็บอะไรสักที่ เช่น ต้องการเข้าเว็บ www.otiknetwork.com มันก็จะแปลงเป็นหมายเลขไอพีให้เรา เพื่อสื่อสารกันนั่นเอง เช่น เป็นหมายเลข 119.59.104.33 เราจะรู้ได้อย่างไรว่าไอพีเบอร์นี้ ก็ลองเข้า Command Prompt แล้วใช้คำสั่ง ping ดูจิ

2016-07-08_11-49-13

คราวนี้ไอ้เจ้า DNS นี่แหละ เราสามารถกำหนดเองได้ ครับ ว่าเราจะให้มันไปใช้บริการที่ไหน โดยปกติ เราจะใช้เช่น 8.8.8.8 หรือ 8.8.4.4 เพราะเป็นของพี่ยักษ์ใหญ่อย่าง google เขาครับ ซึ่งเราสามารถเลือกใช้งานได้ เช่น ใช้ของผู้ให้บริการที่เราใช้งานอยู่ หรือ open dns ก็ได้ เช่นกัน 208.67.222.222 · 208.67.220.220 เลือกเอาเลย

ภาพการทำงานของ DNS Server ที่เขาเก็บไอพี และชื่อไว้ให้เรา

2016-07-08_9-57-52

จากภาพ มันเก็บ Name และ data สังเกตุ Type A มันเป็น IP ครับ อันนี้ไม่ขออธิบาย แล้วกัน A และ CNAME คืออะไร

ในเมื่อผู้ใช้เอง สามารถกำหนด DNS Server ที่ต้องการใช้งานเอง ได้ แล้วถ้าหากเราต้องการที่จะบังคับให้เขาใช้ DNS Server ที่เรากำหนดไว้ล่ะ ทำได้ไหม คำตอบ คือ ทำได้ครับ ยิ่งบน MikroTik นี่หมูเลยครับ

ตัวอย่างการกำหนดค่า DNS บนเครื่องลูกข่าย

2016-07-08_10-16-05

หากเราต้องการบังคับเส้นทาง DNS ของเครื่องลูกข่ายของเรานั้น ปกติเราทำได้ เช่น กำหนด DHCP Server ไว้ เมื่อแจกไอพีให้แจก DNS หมายเลขที่เราระบุไปให้เลย ก็ได้ นั่นเป็นวิธีหนึ่ง แต่ ก็น่ะ แล้วถ้าผู้ใช้เองไม่พอใจ อยากเปลี่ยน เขาก็ยังสามารถเปลี่ยน DNS แบบ Manual ได้เองอีก อันนี้ก็หนีออกจาก DNS ของเราแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ

การบังคับให้ผู้ใช้วิ่งผ่าน DNS ที่เรากำหนด โดยที่ไม่ต้องไปยุ่งกับเครื่องลูกข่ายเลย คือ การ บังคับ DNS จากเกตเวร์มันเลยครับ ซึ่งไมโครติก รับสองคำสั่งก็ใช้งานได้ล่ะ มาดูกัน

ส่งที่คุณต้องทำ คือเข้า Winbox ครับ แล้วเปิด new terminal ขึ้นมา เอาคำสั่งนี้ไปรันครับ

/ip firewall nat
add chain=dstnat action=dst-nat to-addresses=192.168.99.1 to-ports=53 protocol=tcp dst-port=53
add chain=dstnat action=dst-nat to-addresses=192.168.99.1 to-ports=53 protocol=udp dst-port=53

ให้คุณเปลี่ยนตัวหนังสือแดง เป็นหมายเลขไอพีเกตเวร์หรือไมโครติกของคุณ หรือไม่ก็ DNS Server ที่คุณต้องการบังคับให้ผู้ใช้วิ่งผ่านมันครับ

หลักการมันเป็นแบบนี้ครับ อธิบายนิด

เป็นการบังคับผู้ใช้ หากมีการวิ่งผ่านพอร์ต 53 ซึ่งเป็นพอร์ตของ DNS Service ครับ ดังนั้น หากมีการเรียกใช้งานพอร์ต 53 นี้ ไม่ว่าคุณจะกำหนด DNS ไว้ที่หมายเลขอะไร เมื่อมาทางเกตเวร์ซึ่งเป็นทางออกแล้ว มันจะเปลี่ยน DNS ของคุณให้มาวิ่งที่หมายเลขไอพีที่เรากำหนดไว้ในสคริปแรกนั่นเอง เพราะ MikroTik เอง มีบริการ DNS Server ด้วย อันนี้ไม่ขอพูดน่ะ

แล้วจุดประสงค์เพื่ออะไรล่ะ

สมมติน่ะ ในสำนักงานของคุณ มี Web Application ที่ทำงานแบบ Internal คือ เข้าใช้งานได้ภายในเท่านั้น เช่น CRM แล้วกัน ปกติเราจะเข้า ก็เปิด Browser แล้วพิมพ์ http://192.168.99.10/crm แบบนี้ก็จะเปิดหน้าเว็บ CRM แล้วใช่ไหม ที่นี่ ด้วยความที่ DNS นั่น มันคือการ Mapping ชื่อกับเลขไอพีให้เรา

เราเลยจะบอกว่า เมื่อต้องการเข้าระบบ CRM น่ะ ให้ทุกคนใน Office พิมพ์คำว่า http://www.ouroffice.com/crm แบบนี้เป็นต้น จำง่ายกว่าไหมล่ะ เห็นประโยชน์แล้วใช่ไหม

แล้วทำไมต้องบังคับ DNS ล่ะ นึกอย่างนี้ครับ เนื่องจาก DNS Server มันเก็บไอพีกับชื่อ ใช่ไหมล่ะ แล้วถ้าเราไม่บังคับให้มาอ่านที่ DNS เรา เราก็บังคับผู้ใช้ไม่ได้ไง เมื่อเขาเขา www.ouroffice.com/crm และดันไปใช้ DNS Server 8.8.8.8 ซึ่งมันไม่มีชื่อนี้ ไอพีนี้จริงๆ เพราะมันเป็น local มันก็จะเข้าไม่ได้ไง ดังนั้นเราจึงบังคับให้ทุกๆ ที่จะวิ่ง DNS พอร์ต 53 ให้มาผ่านที่เรา เท่านี้ก็สบายๆ ล่ะ จะบังคับอะไรก็ได้

ตัวอย่างอีกแบบที่ใช้งานคือ เช่น เราต้องการ Block ไม่ให้ใช้งานเว็บเช่น ไม่ให้ใช่งานเว็บ www.mthai.com เป็นต้น เมื่อมีคนเข้า domain นี้ให้มันวิ่งไปที่ ไอพีภายในอะไรก็ได้ สักอัน ที่เรากำหนดไว้ ทำหน้าเตือนไว้ ว่าไม่อนุญาต หรือ ให้มันวิ่งไปที่เว็บบริษัทก็ได้เอ๊า ฮ่าๆๆ แค่นี้ก็ได้ล่ะ

มาดูตัวอย่างการทำกันเลยดีกว่า

ผมยกตัวอย่าง เช่น ผมต้องการบังคับให้ผู้ใช้ หากเข้าเว็บ www.otikrd.com ให้ระบบมันส่งไปที่ web server ภายในของผมหมายเลข 192.168.99.21 เป็นต้นครับ

2016-07-08_12-19-42

ให้กำหนดค่าใน MikroTik ดังต่อไปนี้

2ไ

ทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. เข้าไปที่เมนู IP
  2. เลือก DNS
  3. เลือก Static
  4. กำหนดรายละเอียด เช่น หากมีคนเข้ามาด้วยชื่อ Name : www.otikrd.com ให้มันวิ่งไปที่ไอพี 192.168.99.21 จากนั้นคลิก OK
  5. แสดงชื่อที่ถูกกำหนดไว้
  6. เมื่อค้นหาใน Cache จะเห็นว่ามันเป็นชื่อ และ ไอพีที่เรากำหนดครับ

เพียงแค่นี้เราก็สามารถบังคับ DNS จากเครื่องลูกข่ายของเราให้วิ่งผ่าน Router Gateway ของเราได้แล้ว อย่างสบายใจครับ

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ หรือ เพิ่มเติมความรู้ให้หลายๆ ท่านที่สนใจนะครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม

สำหรับการทดสอบการทำ static dns นั้น เมื่อเรากำหนดเรียบร้อยแล้ว ตามขั้นตอนข้างต้น ก่อนจะทดสอบให้ทำการเคลียร์ cache dns ออกไปก่อนนะครับ ในการเคลียร์ เราต้องเคลียร์ทั้ง 2 ที่ครับ คือ บน windows ของเรา และ บน MikroTik ครับ

เคลียร์บน windows ให้เปิดคำสั่ง Dos prompt มา ไปที่ start > run > cmd แล้ว enter จากนั้นพิมพ์คำสั่ง ipconfig /flushdns ครับ แล้ว Enter อีกที จะเป็นการเคลียร์แคชออกจากเครื่อง windows ของเรา

ไ

ส่วนใน MikroTik นั้นก็ไม่ยากครับ เปิด Winbox แล้วไปที่เมนู IP > DNS คลิกที่ Cache แล้ว ด้านบนซ้าย คลิกที่ Flush Cache เลยครับ เท่านี้เอง

333

เช่นเดิม

ติดขัดตรงไหนประการใด ขออภัย หากทำไม่ได้ ตามที่ผมบอก ติดต่อได้ที่เบอร์ 02-5384378 ยินดีรับคอนฟิกให้ครับ ไม่ฟรี เพราะชีวิตนี้ต้องกินข้าวน่ะ ฮ่าๆๆๆๆๆ

ขอบคุณ

อำนวย ปิ่นทอง

 

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *